ประวัติ โรงเรียน

1) ข้อมูลทั่วไปเช่น สถานที่ตั้ง เนื้อที่ ระบบสื่อสารคมนาคมที่สามารถติดต่อได้ ระดับสถานศึกษาที่เปิดสอน  ระดับอนุบาล 1 – ประถมศึกษาปีที่ 6

          โรงเรียนบ้านอะลางหัวขัว(ตังสกุลคุรุราษฏร์บำรุง) ตั้งอยู่ที่บ้านอะลางหมู่ที่ 6 ถนน ศรีสะเกษ – กันทรลักษ์ ตำบลตำแย อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 รหัสไปรษณีย์ 33230 บนพื้นที่ 25 ไร่ 3 งาน 43 ตารางวา เบอร์โทรติดต่อ 045   เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล1 – ประถมศึกษาปีที่ 6

    2) ประวัติโรงเรียน

          โรงเรียนบ้านอะลางหัวขัวฯ เดิมมีนักเรียนไปเรียนที่โรงเรียนบ้านกระแชง(คุรุราษฎร์นุกูล) ทั้ง 2 หมู่บ้าน คือ บ้านอะลาง และบ้านหัวขัว  ซึ่งทั้ง 2 หมู่บ้านอยู่ห่างจากบ้านกระแชงระยะ 2  – 4 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางไปกลับของนักเรียนลำบากมาก ทั้งไม่สะดวกและไม่มีความปลอดภัย ในปี พ.ศ. 2518 ส.ต. กลอน ตังสกุล ราษฏรบ้านพยุห์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ เห็นความเดือนร้อนและสงสารนักเรียนจึงได้บริจาคที่ดินของตนเองบริเวณริมห้วยทา จำนวน 6 ไร่ ราคาประมาณ 30,000 บาท(สามหมื่นบาทถ้วน) ให้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียน โดยมีนายสุพล สืบศาสนา ครูใหญ่และคณะครูโรงเรียนบ้านกระแชงฯและชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน ร่วมกันเสียสละจัดหาวัสดุมาสร้างอาคารชั่วคราว สิ้นงบประมาณ 50,000 บาท(ห้าหมื่นบาทถ้วน) เปิดทำการสอนครั้งแรกจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ทางราชการได้แต่งตั้งให้ นายสำนวน พุ่มไม้ มาดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2519 เพื่อเป็นเกียรติแต่ ส.ต.กลอน ตังสกุล ผู้เสียสละที่ดิน ตลอดจนคณะครู และราษฎร์ทุกคนที่เสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ในการจัดตั้งโรงเรียน จึงได้ขออนุญาตตั้งชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านอะลางหัวขัว(ตังสกุลคุรุราษฎร์บำรุง) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ต่อมา ส.ต.กลอน และนายภู ทาโสม ผู้ใหญ่บ้านอะลาง ได้ร่วมบริจาคที่ดินเพิ่มให้โรงเรียนอีกรวมเป็นเนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน 43 ตารางวา และในปีเดียวกันทางราชการอนุมัติให้สร้างอาคารถาวรให้ 1 หลัง 3 ห้องเรียน เป็นอาคารแบบ ศก 04 สิ้นงบประมาณ 360,000 บาท (สามแสนหกหมื่นบาทถ้วน) และต่อมาคณะครูและชาวบ้านได้จัดหางบประมาณมาปรับปรุงบริเวณโรงเรียนได้แก่ ถนน สนามกีฬา เป็นเงิน 9,305 บาท(เก้าพันสามร้อยห้าบาทถ้วน) โดยความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ

          ในปี พ.ศ. 2527 โรงเรียนได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบ สปช 105 จำนวน 1 หลัง 3 ห้องเรียนอาคารอเนกประสงค์ แบบ สปช 202 จำนวน 1 หลัง และสร้างส้วม จำนวน 1 หลัง 4 ที่ แบบ สปช 206 เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนและบริการชุมชนตลอดมา

          ในปี พ.ศ. 2542 ได้รับงบประมาณและมีการปรับปรุงพัฒนา ดังนี้

  1. ขุดบ่อเลี้ยงปลา เนื้อที่ 2 ไร่ 1 บ่อ ราคา  100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) งบประมาณจังหวัด
  2. จัดทำสนามฟุตบอล แบบ ฟ.1 ราคา  100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) งบทางราชการ
  3. ซ่อมแซมหลังคาส้วม ราคา 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) งบทางราชการ
  4. ปรับปรุงถนนหน้าอาคารเรียน ราคา 1,500 บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาทถ้วน) คณะครู/นักการฯ  บริจาค

ในปี พ.ศ.2545 มีการปรับปรุงและพัฒนา ดังนี้

  1. จัดทำแปลงไม้ดอกไม้ประดับ ราคา 3,000 บาท นายทวี  อรุณโรจน์  บริจาค
  2. จัดทำท่อน้ำเพื่อการเกษตร ราคา 2,000 บาท คณะครู/นักการ บริจาค
  3. จัดทำเรือนเพาะชำ ราคา 1,000 บาท คณะครู / นักการฯ บริจาค
  4. จัดทำเล้าไก่ ราคา 1,000 บาท คณะครู / นักการ / ผู้ปกครองนักเรียน บริจาค

          ในปี พ.ศ. 2546 ได้รับบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์จาก พ.ต.ท.สุเทพ บุญค้ำ และชมรมกอล์ฟ จังหวัดนนทบุรี 2 ชุด ราคา 40,000 บาท

          ในปี พ.ศ. 2548 ได้รับงบประมาณ จากซี อี โอ จังหวัดศรีสะเกษ บริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ 4 เครื่อง ราคา 100,000 บาท และได้รับงบประมาณจาก อบต.ตำแย จัดทำสนามเด็กเล่น ราคา 20,000 บาท และในปี พ.ศ. 2549 อบต.ตำแยบริจาคสื่อโทรทัศน์ เครื่องเล่น วีซีดี ราคา 8,000 บาท

          ในปี พ.ศ. 2550 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อบต.ตำแย บริจาคตามโครงการจัดทำระบบน้ำประปาเพื่อการเกษตร จำนวน 40,000 บาท

          วันที่ 28 ธันวาคม 2550 นายสมสุข  สายเพชร ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้แทนนายทวี  อรุณโรจน์ ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนบ้านก่อโนนหล่อง ซีอีโอเมือง สพท.ศก.เขต 1 ได้ปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ของโรงเรียนให้เหมาะสม สวยงาม เป็นสัดส่วนและได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อบต.ตำแย จำนวน 40,000 บาท เพื่อจัดทำโครงการเด็กกินอิ่มเรายิ้มได้ของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ สามารถบริการและเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้นักเรียนอีกด้วย

          ในปี พ.ศ.2552 นำโดยนายสมสุข  สายเพชร ได้ขอรับเงินบริจาคจากคณะครู นักการ ชาวบ้านอะลางหัวขัวศิษย์เก่า จำนวน 70,000 บาท เพื่อทำรั้วโรงเรียนด้านหน้าทำได้เฉพาะ เสาและคาน

          ในปี พ.ศ.2553 นำโดยนายสมหาญ  เค้ากล้า ได้ขอรับเงินบริจาคจากคณะครู นักการ ชาวบ้านอะลางหัวขัว ศิษย์เก่า จำนวน 50,000 บาท เพื่อทำรั้วต่อจากเดิมได้ก่ออิฐขึ้นมาครึ่งหนึ่ง และได้จัดทำเตาเผาขยะ

          ในปี พ.ศ.2554 นำโดยนายสมหาญ เค้ากล้า ได้สร้างห้องน้ำ ห้องส้วม สำหรับนักเรียนปฐมวัย

          ทางโรงเรียนโดยคณะครู บุคลากรในโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำท้องถิ่น อบต. หมู่บ้านผู้ปกครองนักเรียนได้ร่วมมือกันในการวางแผน และพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ตลอดมา

    3) ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งของโรงเรียนบ้านอะลางหัวขัว สามารถสรุปโดยสังเขป ได้ดังนี้              

โรงเรียนบ้านอะลางหัวขัวฯ มีพื้นที่ 25 ไร่ 3 งาน 43 ตารางวา บริเวณพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มริมห้วยทามีน้ำขังมาก่อน ซึ่งมีอาณาเขตดังนี้

  • ด้านทิศเหนือจดเขตบริเวณป่าสงวนและที่สาธารณะ
  • ทิศตะวันออก จดริมน้ำห้วยทา
  • ทิศใต้ จดทางหลวงแผ่นดินสายศรีสะเกษ – กันทรลักษ์
  • ทิศตะวันตก จดกับถนนเข้าฝายเก็บน้ำห้วยทา  

    4) การคมนาคมขนส่ง  

ในเขตบริการของโรงเรียนบ้านอะลางหัวขัว มีเส้นทางคมนาคมทางรถยนต์ระหว่างหมู่บ้านอะลาง และบ้านหัวขัว ตัดผ่านโรงเรียน  ปัจจุบันนับว่า สะดวกและรวดเร็วเนื่องจากมีโครงข่ายการคมนาคมสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งประกอบด้วย เส้นทางหลวงแผ่นดินสายศรีสะเกษ – กันทรลักษ์ เป็นถนนสายลาดยาง  2 ช่องทางการจราจร อยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 เป็นระยะทาง 27 กิโลเมตร